ปัญจายัต (เนปาล)
ปัญจายัต (เนปาล)

ปัญจายัต (เนปาล)

ปัญจายัต (เนปาล: पञ्चायत; Panchayat) เป็นระบบการเมืองพื้นถิ่นในเนปาล ที่บังคับใช้ในระหว่างปี 1961 ถึง 1990 ระบบปัญจายัตประกอบด้วยการที่อำนาจรัฐบาล รวมทั้งอำนาจเหนือคณะรัฐมนตรีและคณะรัฐสภา อยู่ภายใต้ราชการของกษัตริย์เพียงผู้เดียว อันหมายความว่าเป็นการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราช นอกจากนี้ ในระบบนี้ยังประกาศให้พรรคการเมืองทั้งหมดผิดกฎหมาย[1]หลังรัฐบาลของพรรคคองเกรสเนปาล นำโดย บีพี โกอิราลา ชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลายในเดือนธันวาคม ปี 1960 กษัตริย์มเหนทระได้ประกาศใช้ระบบ ปัญจายัต ในเดือนมกราคม 1961 ภายใต้การปกครองนี้ กษัตริย์มเหนทระได้ประกาศใช้ระบบการปกครองสี่ระดับ คือ หมู่บ้าน, เมือง, อำเภอ และปัญจายัตแห่งชาติ ซึ่งมีที่มาจากคณะกรรมการบริหารที่ได้รับการเลือกตั้งมาอย่างจำกัด นอกจากนี้ กษัตริย์มเหนทระยังกระตุ้นแนวคิดสามเสาหลักของอัตลักษณ์ความเป็นชาติ อันประกอบด้วย ศาสนาฮินดู, ภาษาเนปาล และสถาบันกษัตริย์ เป็นรากฐานของวิถีชีวิตเนปาล แนวคิดนี้แสดงให้เห็นผ่านคติพจน์ว่า เอกราช เอกเภศ เอกภาษา เอกเทศ (กษัตริย์เดียว แต่งกายแบบเดียว ภาษาเดียว ชาติเดียว)[2]อย่างไรก็ตาม ระบบนี้ถูกต่อต้านอย่างหนักเรื่อยมา ในปี 1990 พรรคคคองเกรสเนปาลร่วมกับแนวหน้าพันธมิตรฝ่ายซ้ายซึ่งประกอบด้วยพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายต่าง ๆ ทำการรณรงค์ให้ฟื้นคืนระบบประชาธิปไตยหลายพรรคการเมือง และนำไปสู่การปฏิวัติซึ่งเริ่มต้นเดือนกุมภาพันธ์ 1990 เพื่อสิ้นสุดระบบปัญจายัต ท้ายที่สุดกษัตริย์วิเรนทระได้ประกาศว่าจะฟื้นคืนระบอบประชาธิปไตยหลายพรรค คำสั่งห้ามการมีพรรคการเมืองถูกยกเลิกในเดือนเมษายน 1990 นับเป็นจุดสิ้นสุดของระบบปัญจายัตกว่า 30 ปีในเนปาล[3]